ค้นหาบล็อกนี้

เงาที่ไร้แสง

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษาไทย

ความหมายของภาษา

เมื่อพูดถึง “ภาษา” ตามความนึกคิดของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน โดยทั่วไปเรามักจะนึกถึงภาษาตามความหมายต่างๆ ดังนี้
ภาษา หมายถึง สัญลักษณ์ต่างๆ ที่มนุษย์ใช้เพื่อสื่อสารกัน สิ่งที่ใช้เป็นสัญลักษณ์อาจจะเป็นอะไรก็ได้เท่าที่มนุษย์กำหนดขึ้น ภาษาตามความหมายนี้จึงกว้างขวางมาก เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ซึ่งรวมเรียกว่า “วัจนภาษา” ส่วนภาษาใบ้ ภาษาเงียบ ภาษาท่าทาง เครื่องหมาย สัญญาณต่างๆ เรียกว่า “อวัจนภาษา”
ภาษา หมายถึง ระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์ใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน ภาษาตาม
ความหมายนี้แคบกว่าความหมายแรก เพราะสัญลักษณ์ซึ่งได้จัดระบบแล้วเป็นภาษาที่ต้องมีการเรียนรู้ในสังคม ภาษาตามความหมายนี้มุ่งถึงภาษาซึ่งเป็น ”คำพูด” ที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกันในสังคม
ภาษา หมายถึง ระบบสัญลักษณ์ที่คนกลุ่มหนึ่งๆ ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันในสังคม ภาษาที่คนกลุ่มหนึ่งพูดกับภาษาที่คนอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นภาษาเดียวกันหรือไม่ขึ้นอยู่กับการให้คำนิยามและเกณฑ์ที่จะใช้ในการกำหนดนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ภาษาที่พูดกันในแถบอีสาน อาจจะคล้ายกับภาษาที่พูดในประเทศลาว ถ้าหากดูเขตการปกครองจะพบว่าเป็นภาษาที่พูดอยู่ในประเทศไทย การกำหนดภาษาในสังคมมนุษย์อาจแตกต่างกันไปหลายแบบ เช่น กำหนดตามประเภทของภาษา กำหนดตามตระกูลของภาษา กำหนดตามเขตการปกครองของภาษา เป็นต้น
ภาษา หมายถึง ภาษาย่อยมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากภาษาใดภาษาหนึ่งตามข้อกำหนดต่างๆ เช่น ถิ่นที่อยู่ หน้าที่และจุดมุ่งหมายของการใช้ภาษา ลักษณะและสังคมของผู้ใช้ภาษา

ภาษามีตระกูล
ภาษาต่างๆ ในโลกถ้าจะแบ่งตามรูปลักษณะของภาษาก็สามารถแบ่งได้เป็น ๔ ชนิด
ใหญ่ คือ
๑. ภาษามีวิภัตติปัจจัย (Inflectional Language)
๒. ภาษาคำโดด (Isolating Language)
๓. ภาษาคำติดต่อ (Agglutinative Language)
๔. ภาษาคำมากพยางค์ (Poly synthetic Language)

ภาษาไทยเป็น “ภาษาคำโดด (Isolating Language) บางครั้งเรียกว่า Monosyllabic Language เพราะคำโดยมากมีพยางค์เดียว ภาษาดังกล่าวมักจะนำคำตั้งหรือคำมูลมาเรียงลำดับกันเข้าเป็นประโยค คงรูปคำเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มีรูปอย่างไรก็คงรูปอย่างนั้น แยกโดด ๆ เป็นคำ ๆ ออกไป เมื่อสลับตำแหน่งของคำในประโยคความหมายก็จะเปลี่ยนไป เช่น "งูกินไก่" มีควาหมายอีกอย่างหนึ่ง ถ้าสลับคำในประโยคเป็น "ไก่กินงู" ก็ได้ ความหมายอีกอย่างหนึ่ง ภาษาคำโดดนี้นอกจากภาษาไทยแล้วก็มีหลายภาษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาษาไทย ได้แก่ ภาษาจีน ภาษาพม่า ภาษากะเหรี่ยง ภาษามอญ ภาษาเขมร ภาษาละว้า ภาษาญวน ฯลฯ ภาษาคำโดดนี้บางภาษาเป็นคำพยางค์เดียว (Monosyllabic Language) บางภาษามี
วิวัฒนาการทางภาษากลายเป็นคำหลายพยางค์

ลักษณะของภาษาไทยอันแสดงว่าเป็นภาษาคำโดด

๑.๑ คำภาษาไทยไม่ต้องเปลี่ยนรูป เมื่อภาษาไทยเป็นคำโดด ดังนั้นในคำภาษาไทยจึงใช้ได้โดยอิสระไม่ต้องเปลี่ยนรูปเพื่อแสดง พจน์ เพศ การก กาล
เกี่ยวกับกาล ในภาษาไทยนำคำจำพวกหนึ่งมาประกอบคำกริยาเพื่อบอกกาลว่าเป็นอดีตกาล ปัจจุบันกาลและอนาคตกาล เช่น ฉันได้ไปเยี่ยมคุณป้า เมื่อฝนตกคุณอยู่ที่ไหน เขากำลังร้องเพลง คุณพ่อยังนอนอยู่ เขาจะไปปีนังกับพ่อ
เกี่ยวกับพจน์ คำในภาษาไทยส่วนใหญ่ไม่บอกว่าเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ ต้องใช้คำอื่นประกอบ เช่น ใช้คำว่า มาก เยอะ หลาย หรือคำซ้ำ บางครั้งใช้คำสมุหนามประกอบด้วย ดังตัวอย่าง คุณซื้อมะม่วงไปทำอะไรมากๆ เธอชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยวบ้าน สาวๆ สมัยนี้แต่งตัวเปรี้ยวมาก นกฝูงหนึ่งบินมา เป็นต้น
แต่คำบางจำพวกก็ไม่ได้บอกพจน์เสมอไป อาจจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่ามาก ดังตัวอย่าง ฉันหิวข้าวเต็มแก่ ฉันเกลียดเขาเต็มประดา ข้าวของวางเกลื่อนไปหมด บ้านกับที่ทำงานอยู่ไกลโข วันนี้กับข้าวแพงหูฉี่
เกี่ยวกับเพศ คำนามในภาษาไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่บอกเพศในตัว เช่น พ่อ แม่ ผัว เมีย ตา ยาย ปู่ ย่า พระเจ้าลูกยาเธอ ช้างพัง ข้างพลาย แต่คำส่วนใหญ่นั้นจะไม่นิยมบอกเพศ ต่างจากภาษาตระกูลอินโดยูโรเปียน เพราะภาษาไทยจะมีคำอีกจำพวกหนึ่งใช้ประกอบคำนามบอกเพศ เช่น การบอกเพศชายมักใช้คำว่า ตัวผู้ พ่อ ชาย ถึก หนุ่ม นาย เด็กชาย บ่าว เช่นคำว่า นกตัวผู้ ครูผู้ชาย เด็กชายแดง พ่อครัว โคถึก พ่อค้า พ่อมด องค์ชาย เจ้าฟ้าชาย พ่อเลี้ยง เจ้าบ่าว แต่ก็มีข้อควรระวังบางประการเพราะคำดังกล่าวเหล่านี้อาจจะไม่ได้บอกเพศชายเสมอไป เช่น นายทุน นายหน้า คุณนาย
ในทางตรงกันข้ามเราบอกเพศหญิงด้วยคำว่า ตัวเมีย แม่ หญิง สาว นาง นางสาว เช่น ม้าตัวเมีย คุณหญิง เจ้าฟ้าหญิง แม่บ้าน แม่มด แม่สื่อ นางชี แม่ม่าย เด็กสาว นางนก เจ้าสาว แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน เพราะคำบางคำอาจมีความหมายถึงเพศชายได้ ได้แก่ ขุนนาง

๑.๒ คำภาษาไทยมักเป็นคำพยางค์เดียว
คำในภาษาโดดส่วนมากเป็นคำพยางค์เดียว และคำนั้นก็มีความหมายสมบูรณ์ในตัว คำไทยแท้เริ่มต้นจากคำมูล (คำที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัวและไม่อาจแยกพยางค์ออกไปโดยให้มีความหมายได้อีก) ซึ่งมักมีพยางค์เดียวเปล่งเสียงออกมาครั้งเดียว ซึ่งจะเป็นปัญหาว่าคำใดเป็นคำมูลหรือคำไทยดั้งเดิม หลักสังเกตมีดังนี้
- คำที่ใช้เรียกเครือญาติมาแต่เดิม เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ป้า น้า อา ลุง ทวด เขย หลาน เหลน โหลน หลอด ลืด ฯลฯ
- คำที่ใช้เป็นสรรพนาม เช่น กู มึง สู เรา เขา แก เอ็ง ข้า มัน อ้าย อี เอื้อย ฯลฯ
- คำที่บอกกริยาโดยทั่วไป เช่น นั่ง นอน ย่าง เหยียบ เหยาะ กิน หัว เล่น ก้ม เงย ยืน จาม ฯลฯ
- คำที่บอกจำนวน เช่น อ้าย ยี่ หนึ่ง สอง สิบ เอ็ด พัน ล้าน ฯลฯ
- คำที่ใช้เรียกเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น บ้าน เรือน รั้ว ไถ แอก มีด เสา ฯลฯ
- คำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ไฟ ดิน เดือน ดาว ฝน เย็น อุ่น ฯลฯ
- คำที่ใช้เรียกสีสำคัญ เช่น ดำ แดง เขียว ขาว ด่าง ฯลฯ
- คำที่ใช้เรียกอวัยวะ เช่น ปา หู ตา ดั้ง คาง คิ้ว มือ ตีน ผม หัว
จะเห็นได้ว่าคำที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดล้วนแต่เป็นคำพยางค์เดียวและนำไปใช้ได้เลยตามลักษณะของภาษาคำโดด โดยไม่ต้องเปลี่ยนรูปคำ

๑.๓ คำในภาษาไทยคำเดียวทำหน้าที่ในประโยคได้หลายหน้าที่
พิจารณาจากประโยคตัวอย่าง ดังนี้
ฉันตอกตะปู ฉันเหลาตอก ฉันซื้อข้าวตอก
จากประโยคทั้ง ๓ จะพบว่าคำเพียงคำเดียวสามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่างและมีความหมายแตกต่างกันออกไปในแต่ละประโยค เราสามารถสังเกตความหมายของคำได้จากบริบทของคำ หน้าที่ของคำจะต่างกัน ความหมายก็จะต่างกันด้วย ตัวอย่างเช่น ไก่โต้งโก่งคอขันตั้งแต่เช้า กับ แม่ใช้ขันตักน้ำในตุ่มรดต้นไม้ จะสังเกตว่า “ขัน” มีความหมายที่แตกต่างกันแม้จะเป็นคำคำเดียวกัน

๑.๔ คำภาษาไทยมีลักษณนาม
คำลักษณนามจะปรากฏอยู่หลังจำนวนนับ ซึ่งก็ตรงกับความหมายของคำลักษณนามว่าคือคำที่ทำหน้าที่ประกอบนามอื่นเพื่อแสดงรูปลักษณะ ขนาดของนามนั้นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นตัวอย่างของคำลักษณนามมีดังต่อไปนี้
ปลา ๒ ตัว เรือ ๔ ลำ
พระพุทธรูป ๘ องค์ พระสงฆ์ ๙ รูป
บ้าน ๓ หลัง ปี่ ๕ เลา
สวน ๒ ขนัด ยักษ์ ๒ ตน
ถ้าหากใช้คำว่าเดียว คำลักษณนามจะอยู่ข้างหน้าเดียวซึ่งเป็นลักษณะพิเศษ ดังตัวอย่าง
ฉันมีบ้านหลังเดียว แต่เธอมีบ้าน ๒ หลัง
ในบ่อมีปลาสลิดตัวเดียว มีปลาช่อนหลายตัว
ฉันรับหนังสือพิมพ์รายวันฉบับเดียว
สองหัวดีกว่าหัวเดียว
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ลักษณนาม
- คำลักษณนามของคำนามซึ่งเป็นคำผสมมักจะเอาคำหน้าของคำผสมใช้เป็นลักษณนาม ได้แก่ โรงหนัง ๒ โรง ดอกไม้ ๕ ดอก โรงเรียน ๔ โรง
- คำลักษณนามแบบแนวเทียบ เช่น บ้านพักครู ๒ หลัง เสื้อคลุม ๑ ตัว
- คำลักษณนามบอกจำนวนนับเป็นหมู่ กอง กลุ่ม เช่น ช้าง ๒ โขลง นก ๓ ฝูง ยิงกระสุน ๒ ชุด
- คำลักษณนามแบบสำนวน มีความหมายนัยประหวัด เช่น รบกันหลายเพลง โห่ขึ้น ๓ ลา คุยกันเสียงดังได้ยิน ๗ คาบสมุทร จะทนได้สักกี่น้ำ

๑.๕ คำในภาษาไทยเมื่อเสียงเปลี่ยนความหมายก็เปลี่ยนเนื่องด้วยคำในภาษาไทยมีระบบเสียงสูงต่ำ เสียงหนึ่งมีความหมายอย่างหนึ่งหากเปลี่ยนเสียงความหมายก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย เสียงที่ว่านี้คือเสียงวรรณยุกต์หรือเสียงดนตรี ซึ่งมีอยู่ ๕ เสียง คือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรีและเสียงจัตวา ตัวอย่างเช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า เมื่อเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนความหมายของคำก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย และการที่เรามีเสียงวรรณยุกต์ ๕ เสียง ทำให้ภาษาไทยมีลักษณะพิเศษ คือ ทำให้มีคำใช้มากขึ้น มีความไพเราะของคำ ทำให้ภาษามีจังหวะและความคล้องจอง สามารถเลียนเสียงภาษาได้หลายภาษา

๑.๖ คำในภาษาไทยมีการซ้ำคำเพื่อให้ความหมายแตกต่างกันออกไปคำในภาษาไทยเกือบทุกชนิดซ้ำเสียงได้ และเมื่อซ้ำแล้วความหมายก็จะต่างออกไปด้วย เว้นแต่ลักษณนามไม่มีการซ้ำเสียงเลย ดังตัวอย่าง
- การซ้ำเสียงคำนาม เช่น เด็กๆ ของกล้วยๆ งูๆ ปลาๆ พี่ๆ น้องๆ ผัวๆ เมียๆ ฯลฯ
- การซ้ำเสียงคำกริยา เช่น นั่งๆ นอนๆ พูดๆ เรียนๆ เดินๆ ฯลฯ
- การซ้ำเสียงคำวิเศษณ์ เช่น เร็วๆ น้อยๆ กลมๆ มากๆ บ่อยๆ ช้าๆ ใกล้ๆ ฯลฯ

๑.๗ คำในภาษาไทยสะกดตรงตามมาตตรา
มาตตราตัวสะกดของภาษาไทยมีทั้งหมด ๘ แม่ ไม่รวมแม่ก กา คำใดที่สะกดตรงตามมาตตราส่วนมากจะเป็นคำไทยแท้ เช่น กา ตี กก ตอก กูบ มุด โลม แว้ง ชิน เตย ฯลฯ

๑.๘ การลำดับคำในประโยคการเรียงคำในภาษาไทยมีความสำคัญที่สุด เมื่อเข้าประโยคจะต้องเรียงคำตามตำแหน่งหน้าที่ คำใดทำหน้าที่ใด หมายความอย่างไรก็อยู่ที่การเรียงลำดับคำ การเรียงลำดับคำผิดตำแหน่งความหมายก็จะเปลี่ยนไปด้วย โดยปกติภาษาไทยนิยมเรียงคำจากประธาน กริยา และกรรม ตัวอย่างเช่น หมากัดแมว มดกินปลา ฉันตีเขา

๑.๙ ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับของคำ
วัฒนธรรมของสังคมหนึ่งๆ ย่อมมีส่วนที่แตกต่างกันออกไป ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ในภาษาหนึ่งๆ ก็มีภาษาย่อยอีกหลายภาษาและมีระดับแตกต่างกันไปด้วย ทั้งนี้เนื่องจากสังคมของผู้ใช้ภาษาย่อมมีความแตกต่างในด้าน เพศ วัย อาชีพ ฐานะ การศึกษาและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของผู้ใช้ภาษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เกิดความต่างระดับทางภาษา เช่น ภาษาของเด็ก ภาษาของผู้ใหญ่ ภาษาของแม่ค้า ภาษาของผู้หญิง ภาษาของกลุ่มนักการเมืองและภาษาที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ และภาษาที่ปรากฏในงานประพันธ์ (ภาษากวี) เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวถึงภาษาที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ ซึ่งเรียกว่า “ราชาศัพท์” ความสำคัญของราชาศัพท์อยู่ที่เป็นภาษาที่มีความประณีตงดงาม มีความไพเราะสละสลวยที่สุภาพชนจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับฐานะของบุคคลและกาลเทศะ นอกจากนี้คำราชาศัพท์ยังแสดงถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชาติที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่บรรพบุรุษซึ่งควรค่าแก่การรักษาไว้
ส่วนภาษาที่ปรากฏในบทประพันธ์หรือภาษากวีนั้นจะมีลักษณะของการคัดสรรคำที่มีความไพเราะทั้งคำและความหมาย มีท่วงทำนองที่อ่อนไหว สร้างความโน้นน้าวใจเมื่อได้อ่านหรือได้ฟังบทกวีนั้นๆ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นภาษาที่สร้างสุนทรียภาพให้กับชีวิตหลากหลายรูปแบบ เช่น เมื่อได้อ่านพระราชนิพนธ์ “อิเหนา” ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนศึกกระหมังกุหนิง ซึ่งมีการพรรณนาความงามของธรรมชาติได้ไพเราะและสะเทือนอารมณ์ โดยใช้การเล่นคำเปรียบเทียบระหว่างธรรมชาติกับความคิดถึงนางอันเป็นที่รัก แสดงให้เห็นว่ากวีมีความเข้าใจธรรมชาติของพืชและสัตว์อย่างดีจนสามารถเชื่อมโยงให้เกิดเป็นวรรณศิลป์ได้ ความว่า
“ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
นางนวลจับนางนวลนอน เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
จากพรากจับจากจำนรรจา เหมือนจากนางสะการะวาตี
แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง เหมือนร้างห้องมาหยารัศมี
นกแก้วจับแก้วพาที เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา
ตระเวนไพรร่อนร้องตระเวนไพร เหมือนเวรใดให้นิราศเสน่หา
เค้าโมงจับโมงอยู่เอกา เหมือนพี่นับโมงมาเมื่อไกลนาง”
(อิเหนา : บทพระราชนิพนธ์ ร.๒)
จากการอธิบายลักษณะของภาษาไทยทำให้ทราบลักษณะโดยทั่วไปของภาษาไทย ว่ามีความเด่นชัดในเรื่องใดบ้าง มีลักษณะที่เหมือนและแตกต่างจากภาษาอื่นอย่างไร อีกทั้งทำให้ทราบว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่มีคุณค่า ควรอย่างยิ่งที่จะมีการสนับสนุนให้ศึกษาภาษาไทย การใช้ภาษาไทยอย่างแพร่หลาย เพื่อการใช้ภาษาที่ถูกต้องและเหมาะสม
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษาไทย

ความหมายของภาษา

คำว่า “ ภาษา” เป็นคำภาษาสันสฤต แปลตามรูปศัพท์หมายถึงคำพูดหรือถ้อยคำ ภาษาเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ใช้ในการสื่อความหมายให้สามารถสื่อสารติดต่อทำความเข้าใจกันโดยมีระเบียบของคำและเสียงเป็นเครื่องกำหนด ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่าภาษา คือ เสียงหรือกิริยาอาการที่ทำความเข้าใจกันได้ คำพูดถ้อยคำที่ใช้พูดจากัน

ภาษา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ภาษาที่เป็นถ้อยคำ เรียกว่า “ วัจนภาษา” เป็นภาษาที่ใช้คำพูดโดยใช้เสียงที่เป็นถ้อยคำสร้างความเข้าใจกัน นอกจากนั้นยังมีตัวหนังสือที่ใช้แทนคำพูดตามหลักภาษาอีกด้วย ภาษาที่ไม่เป็นถ้อยคำ เรียกว่า “ อวัจนภาษา” เป็นภาษาที่ใช้สิ่งอื่นนอกเหนือจากคำพูดและตัวหนังสือในการสื่อสาร เช่น การพยักหน้า การโค้งคำนับ การสบตา การแสดงออกบนใบหน้าที่แสดงออกถึงความเต็มใจและไม่เต็มใจ อวัจนภาษาจึงมีความสำคัญเพื่อให้วัจนภาษามีความชัดเจนสื่อสารได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากท่าทางแล้วยังมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาใช้ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจ อีกด้วย

ความสำคัญของภาษา

ภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารของมนุษย์ มนุษย์ติดต่อกันได้ เข้าใจกันได้ก็ด้วยอาศัยภาษาเป็นเครื่องช่วยที่ดีที่สุด
ภาษาเป็นสิ่งช่วยยึดให้มนุษย์มีความผูกพันต่อกัน เนื่องจากแต่ละภาษาต่างก็มีระเบียบแบบแผนของตน ซึ่งเป็นที่ตกลงกันในแต่ละชาติแต่ละกลุ่มชน การพูดภาษาเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน มีความผูกพันต่อกันในฐานะที่เป็นชาติเดียวกัน
ภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ และเป็นเครื่องแสดงให้เห็นวัฒนธรรมส่วนอื่นๆของมนุษย์ด้วย เราจึงสามารถศึกษาวัฒนธรรมตลอดจนเอกลักษณ์ของชนชาติต่างๆได้จากศึกษาภาษาของชนชาตินั้นๆ
ภาษาศาสตร์มีระบบกฎเกณฑ์ ผู้ใช้ภาษาต้องรักษากฎเกณฑ์ในภาษาไว้ด้วยอย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ในภาษานั้นไม่ตายตัวเหมือนกฎวิทยาศาสตร์ แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของภาษา เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ตั้งขึ้น จึงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยตามความเห็นชอบของส่วนรวม
ภาษาเป็นศิลปะ มีความงดงามในกระบวนการใช้ภาษา กระบวนการใช้ภาษานั้น มีระดับและลีลา ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆหลายด้าน เช่น บุคคล กาลเทศะ ประเภทของเรื่องฯลฯ การที่จะเข้าใจภาษา และใช้ภาษาได้ดีจะต้องมีความสนใจศึกษาสังเกตให้เข้าถึงรสของภาษาด้วย
องค์ประกอบของภาษา ภาษาทุกภาษาย่อมมีองค์ประกอบของภาษา โดยทั่วไปจะมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ

เสียง

นักภาษาศาสตร์จะให้ความสำคัญของเสียงพูดมกกว่าตัวเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะภาษาย่อมเกิดจากเสียงที่ใช้พูดกัน ส่วนภาษาเขียนเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนเสียงพูด คำที่ใช้พูดจากันจะประกอบด้วยเสียงสระ เสียงพยัญชนะและเสียงวรรณยุกต์ แต่บางภาษาก็ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ เช่น บาลี สันสกฤต เขมร อังกฤษ

พยางค์และคำ

พยางค์เป็นกลุ่มเสียงที่เปล่งออกมาแต่ละครั้ง จะประกอบด้วย เสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ จะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้
พยางค์แต่ละพยางค์จะมีเสียงพยัญชนะต้น ซึ่งเป็นเสียงที่อยู่หน้าเสียงสระ พยางค์ทุกพยางค์จะต้องมีเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ บางพยางค์ก็อาจมีเสียงพยัญชนะสะกดประกอบอยู่ด้วย เช่น “ ปา” พยัญชนะต้น ได้แก่ เสียงพยัญชนะ /ป/ เสียงสระ ได้แก่ เสียงสระ /อา/

เสียงวรรณยุกต์ ได้แก่ เสียง /สามัญ/
ส่วนคำนั้นจะเป็นการนำเสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์มาประกอบกัน ทำให้เกิดเสียงและมีความหมาย คำจะประกอบด้วยคำพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ก็ได้

ประโยค

ประโยค เป็นการนำคำมาเรียงกันตามลักษณะโครงสร้างของภาษาที่กำหนดเป็นกฎเกณฑ์หรือระบบตามระบบทางไวยากรณ์ของแต่ละภาษา และทำให้ทราบหน้าที่ของคำ


ร้อยกรอง โดย พงศ์ศักดิ์ สังขภิญโญ

ความหมายของร้อยกรอง


คำว่า ร้อยกรอง ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Poetry บางครั้งก็เรียก บทกวี หรือ กวีนิพนธ์ คำว่าร้อยกรอง
เป็นคำที่สำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม กำหนดขึ้นใช้เรียกวรรณกรรมที่มีลักษณะบังคับในการแต่งเพื่อให้เข้าคู่กับคำว่า "ร้อยแก้ว" ซึ่งเดิมบทประพันธ์ประเภทนี้ เรียกกันหลายอย่าง เช่น กลอน กาพย์ ฉันท์ กานท์ (ดนยา วงศ์ธนะชัย. 2542:211)

ได้มีผู้ให้คำจำกัดความของร้อยกรองไว้หลากหลายดังนี้ คือ
- พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (2506 : 2) ทรงอธิบายว่า ร้อยกรอง
คือการเรียงถ้อยคำตามระเบียบข้อบังคับ ซึ่งได้แก่ มาตราฉันทลัษณ์ คำร้อยกรองเป็นส่วนประกอบของกวีนิพนธ์เท่านั้น ไม่ใช่แก่นสารของกวีนิพนธ์
- สิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนวรรณ (2520 : 10) ได้อธิบายว่าร้อยกรองได้แก่
ข้อเขียนที่มีการจำกัดจำนวนคำ หรือพยางค์ จำกัดความยาว มีการกำหนดเสียงสูงต่ำ กำหนดเสียงสั้นยาว หนักเบากำหนดสัมผัส และกำหนดจังหวะไว้อย่างแน่นอน
- ชลธิรา กลัดอยู่ (2517 : 161-162) ได้ให้ความหมายของร้อยกรอง ไว้ 2 ระดับ คือ ระดับแรก หมายถึงถ้อยคำ สำนวน ภาษาที่เรียบเรียงขึ้นอย่างมีบทบัญญัติ มีกฎเกณฑ์ หรือเรียกกันทั่วไปว่ามีฉันทลักษณ์ตามแบบโบราณ ระดับสองหมายถึง ถ้อยคำ สำนวน ภาษาที่เรียบเรียงขึ้นอย่างมีบทบัญญัติหรือฉันทลักษณ์ตามแบบที่มีมาแต่เดิมและรวมถึงฉันทลักษณ์ที่ผู้แต่งคิดขึ้นเองได้
- ส่วน พระยาอนุมานราชธน (2518 : 9) ได้ให้ความหมายของร้อยกรองว่า หมายถึง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ซึ่งมีถ้อยคำที่นำมาประกอบกัน มีขนาดมาตราเสียงสูงต่ำ หนักเบา และสั้นยาว ตามรูปแบบ
(Pattern)ที่กำหนดไว้ รูปแบบที่กำหนดนี้มีมากมาย ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะแต่ที่กำหนดไว้ในตำรา
ซึ่งว่าด้วยการแต่ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน หรือ ฉันทลักษณ์สรุปได้ว่า ร้อยกรอง คือ งานเขียนที่ผสมผสานระหว่างแนวความคิด และศิลปการใช้คำ ตามแบบวิธีฉันทลักษณ์โบราณ หรือ อาจคิดขึ้นใหม่ก็ได้

องค์ประกอบของร้อยกรอง องค์ประกอบของร้อยกรองของไทยโดยทั่ว ๆ ไป ทั้งร้อยกรองแบบเก่าและร้อยกรองปัจจุบัน (ยกเว้นกลอนเปล่าอาจไม่เคร่งครัดทางด้านองค์ประกอบบางประเภท เช่น ฉันทลักษณ์ เป็นต้น) ก็ยังคงใช้อยู่ ซึ่ง มีองค์ประกอบสำคัญ ดังต่อไปนี้ คือ

1) ฉันลักษณ์หรือลักษณะบังคับ โดยทั่วไป มี 9 ชนิด ดังนี้

1.1) คณะ หมายถึง การจัดหมวดหมู่ของคำประพันธ์ร้อยกรองทุกประเภท ว่าบทหนึ่งจะประกอบด้วย บท วรรค ตอนหรือคำอยางไร เช่น กาพย์ยานี 11 กำหนดคณะไว้ว่า 1 บท จะมี 2 บาท แต่ละบาทจะประกอบด้วย 2 วรรค วรรคแรกจะต้องมี 5 คำ วรรคหลัง 6 คำ ดังนี้เป็นต้น

1.2) สัมผัส หมายถึง ความคล้องจองตามกฎเกณฑ์ที่บังคับไว้ในคำประพันธ์ แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่

1.2.1) สัมผัสสระ คือ สระพ้องกันตามมาตราแม้เสียงวรรณยุกต์จะต่างกันก็ตาม เช่น ใคร-ไป-นัยน์-ใหม่-ใกล้เป็นต้น1.2.2) สัมผัสอักษร คือ ใช้เสียงตัวอักษรพ้องกัน ไม่กำหนดเสียงสระ หรือเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ เช่น เขา-ขัน, คู-ค่ำ เป็นต้น

1.2.3) สัมผัสนอก คือ สัมผัสที่ส่งและรับสัมผัสกันนอกวรรคออกไป คือส่งจากคำสุดท้ายของวรรคหน้าไปยังคำใดคำหนึ่งในวรรคต่อ ๆ ไป สัมผัสนอกนี้เป็นสัมผัสบังคับในร้อยกรองทุกประเภทจะไม่มีไม่ได้ และกำหนดให้ใช้แต่ สัมผัสสระเท่านั้น

1.2.4) สัมผัสใน คือ สัมผัสที่ส่งและรับภายในวรรคเดียวกัน ไม่เป็นสัมผัสบังคับ
และจะใช้สัมผัสสระหรือพยัญชนะก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม

1.3) คำครุ คำลหุ คือ คำที่บังคับใช้ในการแต่งฉันท์ ซึ่งมีบังคับแจกแจงต่างกันออกไป
โดยใช้เครื่องหมายเป็นเครื่องบอกคือ คำครุ ใช้เครื่องหมาย ั แทน และคำลหุ ใช้เครื่องหมาย ุ แทน

1.4) คำเอก คำโท คือ คำที่บังคับใช้ในการแต่งโคลงและร่าย คำเอก ได้แก่ คำหรือพยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์เอกและคำตายทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเสียงวรรณยุกต์ใด ๆ ส่วนคำโท ได้แก่ คำหรือพยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์โท

1.5) คำเป็น คำตาย คือ คำที่ใช้การแต่งโคลง ร่าย และร้อยกรอง ที่เป็นกลบท เช่น กลอนกลบทที่มีคำตายล้วน เป็นต้น คำเป็น ได้แก่ คำที่ประกอบด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก.กา และคำที่มีตัวสะกดในแม่ กง กน กม เกย เกอว รวมทั้งคำที่ประกอบด้วยสระ อำ ไอ ใอ เอา ส่วนคำตาย ได้แก่คำที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก.กา (ยกเว้นสระ อำ ไอ ใอ เอา) และตัวสะกดในแม่ กก กด กบ

1.6) เสียงวรรณยุกต์ คือข้อกำหนดที่บังคับใช้ในการแต่งกลอนโดยถือเรื่องเสียงวรรณยุกต์ เป็นสำคัญ ได้แก่ เสียงสามัญ, เอก, โท, ตรี และ จัตวา เป็นต้น

1.7) พยางค์ คือ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะสั้นยาวอย่างไร จะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ตาม ในการแต่งร้อยกรองจะถือว่าพยางค์ก็คือคำนั่นเอง

1.8) คำขึ้นต้นและคำลงท้าย คือ คำที่ใช้กล่าวขึ้นต้น หรือ คำที่ใช้ลงท้ายวรรค ท้ายบาท ท้ายบท
ซึ่งอาจจะใช้เป็นคำเดียว หลายคำ หรือวลีก็ได้ เช่น คำว่า "สักวา" "เมื่อนั้น, บัดนั้น" "คนเอ๋ยคนดี" หรือลงท้ายว่า "เอย" เป็นต้น

1.9) คำสร้อย คือคำที่ใช้ลงท้ายวรรค ท้ายบาท หรือท้ายบทเพื่อความไพเพราะ
หรือเพื่อให้ครบจำนวนคำตามลักษณะบังคับ บางแห่งก็ใช้เป็นคำถามหรือใช้ย้ำความ
คำสร้อยนี้มักจะใช้เฉพาะโคลงกับร่าย และมักจะเป็นคำเป็น เช่น พ่อ แม่ พี่ เทอญ นา ฤา แล ฮา แฮ เป็นต้น

2) เนื้อหาและแนวความคิด บทร้อยกรองปัจจุบันจะเสนอเนื้อหา หรือแนวความคิดเดียวในร้อยกรองเรื่องหนึ่ง ๆ เช่น ความรัก ธรรมชาติ อารมณ์ ความคิดฝัน หรือสิ่งประทับใจของผู้ประพันธ์ สังคม เป็นต้น เพื่อที่จะสื่อสารกับผู้อ่านอาจเป็นความคิดหรือเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา หรือความคิดที่แยบคาย ซ่อนเร้นแปลกใหม่ตามความสามารถของผู้ประพันธ์

3) ชนิดของร้อยกรอง ผู้ประพันธ์จะเลือกใช้ ชนิดของร้อยกรอง ให้เหมาะสมกับความคิด และเนื้อหา ที่ต้องการเสนอให้กับผู้อ่าน
ซึ่งมีดังนี้

3.1) โคลง เป็นร้อยกรองที่มีวิธีเรียบเรียงถ้อยคำเข้าคณะโดยกำหนด คำเอก คำโท และสัมผัสเป็นสำคัญ โคลงแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ โคลงสุภาพ โคลงดั้น และโคลงโบราณและยังแบ่งย่อยออกไปแต่ละประเภท เช่น โคลงสอง โคลงสาม โคลงสี่ โคลงกระทู้ โคลงดั้นบาทกุญชร เป็นต้น

3.2) ฉันท์ เป็นร้อยกรองที่มีระเบียบบังคับ คำหนักคำเบา หรือ คำครุ คำลหุ เป็นสำคัญ นอกจากนั้นก็บังคับในเรื่องคณะและสัมผัสด้วย ฉันท์มีหลายชนิดแต่ที่นิยมแต่ง คือ อินทรวิเชียรฉันท์ วสันตดิลกฉันท์ มาลินีฉันท์ วิชชุมมาลาฉันท์ เป็นต้น

3.3) กาพย์ เป็นร้อยกรองที่มีระเบียบบังคับคล้ายกับฉันท์เพียงแต่กาพย์มิได้กำหนดครุลหุ ดังนั้นกวีโบราณจึงนิยมแต่งฉันท์ปนกับกาพย์ ซึ่งเรียกว่าคำฉันท์ เช่น สุมทรโฆษคำฉันท์ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น กาพย์มีหลายชนิดแต่ที่นิยมแต่งมี กาพย์ฉบัง กาพย์ห่อโคลง กาพย์ขับไม้ กาพย์สุรางคนางค์ เป็นต้น

3.4) กลอน เป็นร้อยกรองประเภทที่บังคับคณะ สัมผัส และเสียงวรรณยุกต์ เนื่องจากเป็นร้อยกรองที่แต่งง่าย จึงมีคนนิยมมากกว่าร้อยกรองประเภทอื่น ซึ่งแบ่งออกเป็น กลอนสุภาพ กลอนสักวา กลอนดอกสร้อย กลอนเสภา กลอนบทละคร กลอนเพลง เป็นต้น

3.5) ร่าย เป็นร้อยกรองประเภทที่บังคับคณะ สัมผัส และบางชนิดก็บังคับคำเอกคำโทด้วย
ลักษณะคณะของร่ายจะไม่มีการกำหนดว่าต้องมีบทละกี่วรรค จะแต่งยาวเท่าไรก็ได้ เพียงแต่ให้มีสัมผัสทุกวรรคและจบลงตามข้อบังคับเท่านั้น ซึ่งแบ่งออกเป็นร่ายสุภาพ ร่ายดั้น ร่ายยาว ร่ายโบราณ

3.6) ลิลิต เป็นร้อยกรองที่ประกอบไปด้วย ร่าย และโคลงแต่งสลับกันเป็นเรื่องยาวโดยมีการร้อยสัมผัส ลิลิต มี 2 ชนิด คือ ลิลิตสุภาพ (โคลงสุภาพแต่งสลับร่ายสุภาพ) และลิลิตดั้น (โคลงดั้นแต่งสลับกับร่ายดั้น)

3.7) กลอนเปล่า เป็นงานเขียนชนิดหนึ่ง ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Blank Verse หรือ Free Verse
ซึ่งไทยรับมาจากประเทศทางตะวันตก กลอนเปล่าจะไม่มีข้อบังคับทางฉันทลักษณ์ ผู้ประพันธ์มีอิสระในการแสดงความคิดและใช้คำได้อย่างเต็มที่ ร้อยกรองประเภทกลอนเปล่า ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยม
ลักษณะของร้อยกรองปัจจุบัน แนวการเขียนร้อยกรองไทยปัจจุบัน มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากร้อยกรองในอดีตทั้งในด้านรูปแบบ เนื้อหา แนวคิด และกลวิธีในการนำเสนอ ดังรายละเอียดที่จะนำเสนอต่อไปนี้

1) ด้านรูปแบบ ร้อยกรองไทยปัจจุบันมีรูปแบบแตกต่างจากร้อยกรองในอดีต หลายประการดังนี้ (รื่นฤทัย
สัจจพันธุ์ 2525 : 261-267)

1.1) ขนาด ร้อยกรองปัจจุบันจะมีขนาดสั้นลง ส่วนใหญ่จะแต่งเพียง 6-12 บท และเหตุที่มีขนาดสั้นลงเนื่องจากผู้แต่งไม่ได้มุ่งพรรณนาเนื้อเรื่อง แต่มุ่งแสดง "ข้อคิด" หรือเสนอ "ความคิด" ให้กระชับรัดกุมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามมีร้อยกรองบางเรื่องที่ผู้เขียนมีความมุ่งหมายที่จะเขียนให้มีขนาดยาวเพื่อบันทึกหรือบรรยายเหตุการณ์ เช่น ชักม้าชมเมือง ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บางกอกแก้วกำสรวล (นิราศนครศรีธรรมราช) ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ นาฏกรรมบนลานกว้าง ของ คมทวน คันธนู เสภาไพร่ ของ สุจินต์ วงษ์เทศ ภควตี ของ วันเพ็ญ เซ็นตระกูล เป็นต้น

1.2) ฉันทลักษณ์ ร้อยกรองเป็นคำประพันธ์ที่มีฉันทลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละชนิดและสืบทอดศิลปะการแต่งมาช้านาน แต่ในปัจจุบันได้มีความเปลี่ยนแปลงในด้านฉันทลักษณ์บ้างดังนี้

1.2.1) ไม่เคร่งครัดต่อฉันทลักษณ์ จะพบว่าร้อยกรองที่แต่งกันในระยะหลังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อกฎเกณฑ์ทางด้านฉันทลักษณ์นัก จะเห็นได้จากในขณะที่กวีไทยในอดีตนิยมดำเนินการเขียนตามครูกวี
แต่ผู้แต่งร้อยกรองในปัจจุบันกลับพยายามแสวงหาแนวทางตนเองประกอบกับผู้แต่งร้อยกรองในปัจจุบันให้ความสำคัญแก่เนื้อหามากกว่ารูปแบบ ดังนั้นจึงสนใจเพียงลักษณะทั่ว ๆ ไป แต่จะละเลยรายละเอียด เช่น ไม่สนใจเรื่องเสียงสัมผัสอันจะทำให้เกิดความกลมกลืนในด้านเสียงและจังหวะ ไม่สนใจจำนวนคำในแต่ละวรรค อาจสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับเนื้อความ หรือบางบทมีเพียงสัมผัสนอกเท่านั้นที่บอกให้เราทราบว่าเป็นร้อยกรอง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นร้อยกรองชนิดใด

1.2.2) เกิดความนิยมในการแต่งกลอนเปล่า ลักษณะสำคัญของกลอนเปล่าคือ ไม่มีข้อบังคับใด ๆ ในการแต่ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคำ การสัมผัส จังหวะ แต่จะแบ่งเนื้อความออกเป็นวรรคเป็นตอน เพียงแต่วรรคตอนเหล่านั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ศิลปะในการแต่งกลอนเปล่า จึงอยู่ที่ความสามารถในการใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ และสามารถแสดงความคิดได้ลึกซึ้งและเป็นสากลมากน้อยเพียงไร

1.2.3) การคิดฉันทลักษณ์แบบใหม่ นอกจากร้อยกรองประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ซึ่งเป็นร้อยกรองรูปแบบเดิมแล้ว ได้มีผู้คิดฉันทลักษณ์แบบใหม่ขึ้นในร้อยกรองปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะสำคัญพอจะสรุปได้ดังนี้

ก. มีการกำหนดจำนวนคำในวรรค ในบาท ในบทใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงสัมผัสระหว่างบทให้มีลักษณะต่างไปจากรูปแบบเดิม เช่น กำหนดให้ หนึ่งบทมีสามวรรคคำสุดท้ายของแต่ละวรรคสัมผัสกัน วรรคหนึ่งมีคำประมาณ 5-7 คำ การแต่งนั้นแต่ละบทเป็นอิสระ จึงไม่ต้องส่งและรับสัมผัสไปยังบทต่อ ๆ ไป ดังตัวอย่าง

คนชรารอข้ามถนน
ถนนเต็มไปด้วยรถยนต์
และแกไม่อาจข้ามพ้น
แกยืนรอ ๆ รี ๆ
ไม่รู้จะทำอย่างไรดี
ถนนมีแต่รถราขับขี่ (ไม่ปรากฎชื่อ)

ข. มีการวางรูปแบบคำประพันธ์อย่างใหม่ ด้วยการแสดงความหมายด้วยรูปที่เกิดจากการวางตัวอักษร ที่เรียกว่า "วรรณรูป" หรือ "กวีนิพนธ์รูปธรรม" (Concrete poetry) ดังตัวอย่างบทร้อยกรองชื่อ "หยาดฝน" ที่วางเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เหมือนเป็นเม็ดฝนหล่นจากฟ้า ตรงกับเนื้อความที่พรรณาไว้ ดังนี้

เด็ก
คนนั้น
มองสายฝน
ภายนอกหน้าต่าง
หยาดน้ำฝนจากฟ้า
หลั่งมาเป็นสาย
ดู ซิ จ๊ะ
น้ำฝน
ใส
สาว
คนนั้น
มองสายฝน
ภายในหัวใจ
หยาดน้ำฝนจากใจ
หลั่งมาเป็นสาย
ดู ซิ จ๊ะ
น้ำฝน
ขุ่น

(หยาดฝน : ผกาดิน)

2) ด้านแนวคิด แนวคิดในร้อยกรองไทยแต่โบราณ จะปรากฎอิทธิพลของปรัชญาพุทธศาสนาอยู่อย่างเด่นชัด แม้จะเป็นเพียงปรัชญาขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต มิใช่อภิปรัชญาก็ตาม เช่น ความเชื่อในเรื่องกรรม เชื่อในความไม่เที่ยงแท้ เชื่อว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ เชื่อว่ารูปรสกลิ่นเสียง เป็นสิ่งที่ทำให้คนลุ่มหลงได้ ฯลฯ แม้แต่การมองปัญหาของกวีไทยในอดีตก็จะเพ่งเล็งไปที่ปัญหาของแต่ละบุคคลมากกว่าปัญหาของมนุษยชาติ หรือปัญหาเหนือโลก และแม้กวีจะใฝ่ฝันถึงความเจิรญรุ่งเรืองของบ้านเมือง แต่ก็ไม่หลงใหลไปถึงสังคมในอุดมคติ แต่เมื่อรับอิทธิพลจากตะวันตกแล้ว แนวคิดที่ปรากฎในร้อยกรองไทยปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ผู้แต่งรับอิทธิพลแนวคิดจากตะวันตกมาใช้ในร้อยกรองไทยมากขึ้น ซึ่งสามารถจำแนกแนวคิดที่ปรากฎในบทร้อยกรองไทยปัจจุบัน ออกได้ดังนี้

2.1) แนวคิดแบบจินตนิยม (Romanticism) คือ แนวคิดที่มุ่งให้ความสำคัญแก่เรื่องอารมณ์ ความรู้สึกและญาณสังหรณ์ของผู้แต่งมากเป็นพิเศษ เพราะมุ่งจะให้เป็นเครื่องประเทืองอารมณ์ของผู้อ่านมากกว่าจะเป็นเครื่องประเทืองปัญญา ฉะนั้นเนื้อหาของบทร้อยกรองตามแนวจินตนิยม จึงมักจะพัวพันอยู่กับเรื่องความรัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นกิเลสและตัณหาของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป เช่น รู้ทั้งรู้ว่ารักจักให้ทุกข์ ใจยังรุกเร้าหลอกให้บอกเขา ช่างไม่เข็ดหรือไรนะใจเรา เขามีเจ้าของแล้วในแววตา (เตือนดับในดวงตา : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)


2.2) แนวคิดแบบอุดมคตินิยม (Idealism) เป็นแนวคิดที่มุ่งเสนอเรื่องราวหรือสิ่งที่ผู้แต่งเห็นว่า "น่าจะมี" หรือ "ควรจะเป็น" อันเป็นความมุ่งหวังในความสมบูรณ์แบบของสรรพสิ่งซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
ความสมบูรณ์แบบเป็นสิ่งที่มีอยู่ในความคิดเท่านั้น ยากที่จะเป็นจริงได้งานเขียนแนวอุดมคตินิยม
จึงมักเสนอภาพหรือเรื่องราวของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้มีลักษณะดีกว่างดงามกว่า หรือสูงสง่ากว่าสภาพที่เป็นอยู่จริงเสมอ ตัวอย่างเช่น

ความเมตตาปรานีอยู่ที่ไหน ผ่องอำไพราวพรอมรสวรรค์
ชุ่มชื่นล้ำอมฤติชิดชีวัน ราวของขวัญเทพประทานลอยผ่านฟ้า
ความรู้สึกลึกซึ่งซึ่งสูงส่ง จักยืนยงคงอยู่คู่ชีพข้า
การุญเกื้อเหนืออะไรในโลกา สืบหรรษาสิริจิตโศภิตพรรณ

(เหนือนิรันดร : ทวีปวร)

2.3) แนวคิดแบบสัจนิยม (Realism) เป็นแนวคิดที่มุ่งสะท้อนภาพ ชีวิต และสังคมมนุษย์ตามสภาพที่เป็นจริง ดังนั้นงานร้อยกรองแนวสัจนิยม จึงแสดงให้เห็นภาพทั้งในด้านดีและด้านร้ายอย่างตรงไปตรงมา ตัวอย่างเช่น

ทุ่งข้าวเขียวขจี สีสดชื่นระรื่นลมไหว
ปูปลามาเล็มไคล ในน้ำใสใต้สันตะวา
สาหร่ายชูดอกกระจิริด แมลงน้อยนิดไร้เดียงสา
เกาะดอกหญ้าบนคันนา แมงมุมตั้งท่าตะครุบกิน

(ทุ่งข้าว : อังคาร กัลยาณพงศ์)

2.4) แนวคิดแบบธรรมชาตินิยม (Naturalism) เป็นแนวคิดที่แตกแขนงไปจากแนวคิดแบบสัจนิยม
แต่จะมุ่งมองไปในด้านเศร้าและหม่นหมองของชีวิต และสังคมมนุษย์ ด้วยความคิดที่ว่าความเลวร้ายต่าง ๆ เหล่านั้น มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะ เศรษฐกิจ ธรรมชาติ หรือค่านิยมของสังคมบีบบังคับให้มนุษย์ต้องมีฐานะต่ำต้อยในสังคม หรือทำให้อยู่ในฐานะที่ต้องเสียเปรียบคนอื่น ๆ ในสังคม ตัวอย่างเช่น


แต่ละข้ามแต่ละขั้นของบัณฑิต ทุกย่างก้าวกว่าพิชิตล้วนยากเข็ญ
แต่ละช่วงแต่ละฉากล้วนยากเย็น ทุกก้าวย่างกว่าจะเป็นแทบวายปราณ
ซึ่งสังคมเส็งเคร็งและโสโครก พร้อมสับโขกใครใครที่ไม่ผ่าน
ค่านิยมปริญญาเหมือนปราการ คอยแบ่งงานแบ่งเหงื่อแห่งเชื้อชน

(ถึงบัณฑิต : คมทวน คันธนู)

2.5) แนวคิดแบบอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการแสวงหาคุณค่าใหม่ ๆ ในชีวิต โดยปฏิเสธกฎเกณฑ์ หรือคุณค่าของสังคมเก่า ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ หรือกฎหมาย เป็นต้น แนวคิดแบบอัตถิภาวะนิยม จะยกย่องคนที่กล้าตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง และพร้อมจะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจเลือกของตนเองในแต่ละครั้ง ไม่ว่าการตัดสินใจนั้น ๆ จะถูกหรือผิดก็ตาม ตัวอย่างเช่น

ทุกวันนี้ฉันถูกอบรม
ขูดสมอง ขูดลิ้น จับมือ
ให้คิด ให้พูด ให้ทำ
ตามที่คนรุ่นเก่ากำหนดไว้
สงสัยนัก
ฉันเกิดมาเพื่อใคร
เพื่อเป็นทาส เป็นทรัพย์สิน เป็นเครื่องมือ
เป็นพยานความดี ความถูกต้อง ของใครกัน
ของตัวเองหรือของคนรุ่นเก่า

(ปล่อยฉันจากซากเดนอันโสโครกเสียที : อรุณ ดิษฐาอภิชัย)

2.6) แนวคิดแบบสัญลักษณ์นิยม (Symbolism) เป็นแนวที่ใช้สัญลักษณ์ในการเขียนแทนสิ่งที่ต้องการจะกล่าวถึง อาจจะใช้สัญลักษณ์แทนเพียงบางส่วน หรือใช้เรื่องทั้งเรื่องเป็นสิ่งแทนก็ได้
ทั้งนี้เนื่องจากนักคิดแนวสัญลักษณ์นิยมเชื่อว่า การใช้สัญลักษณ์ช่วยให้การสื่อความหมายทำได้ลึกซึ้ง
และกว้างไกลกว่าการกล่าวถึงตรง ๆ ตัวอย่างเช่น

โอ้ราตรีนี้หนาเทวาหลับ ดวงเดือนดับดาวแดงส่องแสงขรึม
พระพายคึกดึกจัดก็พัดพึม เมฆาครึ้มครึมครางอยู่ครางครืน
มีเพลงแผ่วแว่วมาจากฟ้ากว้าง อันเวิ้งว้างเคล้าลมเสียงขมขื่น
ว่ามาเถิดชาวรัฐมาหยัดยืน ยึดแผ่นพื้นสวรรค์ให้มั่นคง
แล้วย่างย่ำนำร่างไปข้างหน้า เหยียบอินทราให้ยุ่ยเป็นผุยผง
ถึงคนหน้ามาคว่ำขมำลง คนหลังจงย่างเยื้องหนุนเนื่องไป

(เสียงเพลงจากฟ้ากว้าง : ธงไทย สุวรรณคีรี)

2.7) แนวคิดแบบสังคมนิยม (Socialism) คือแนวคิดที่มุ่งสะท้อนปัญหาทางสังคมของส่วนรวมมากกว่าเรื่องราวส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั้งในด้านเพื่อปากเพื่อท้อง
เพื่อสิทธิและเพื่อความเสมอภาค ทั้งนี้เพราะผู้เขียนต้องใช้ร้อยกรองเป็น "สื่อ" ในการตีแผ่สภาพความทุกข์ยากของชนชั้นกรรมาชีพและเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ชนกลุ่มนี้ด้วย เช่น

แดดจ้าฟ้าก็แจ้ง ฝนก็แล้งสิร้อนเหลือ
น้ำตาแทนฝนเจือ รดดอกเบี้ยให้งอกงาม
โอ้โอ๋ชาวนาไทย ขัดสนไปทุกโมงยาม
นายทุนเขาหยาบหยาม สิก็เหยียบก็ย่ำยี
ซัดเซและซมซาน มาถึงบ้านกุฏุมพี
ก็เช่นเคยเอ่ยวจี ขอกู้เงินไปทำนา
ทุกปีฟ้าลิขิต ต่อชีวิตด้วยเงินตรา
ต้องกู้นายทุนมา แทบจะบ้าจะวางวาย

(บทโศลกมหิทธาของชาวนาและรวงข้าว : จาตุรนต์ น้อยอ่ำ)

3) ด้านเนื้อหา ร้อยกรองไทยหลังรับอิทธิพลจากตะวันตก มิใช่เป็นร้อยกรองเพื่ออารมณ์อย่างแต่ก่อน
แต่เป็นร้อยกรองที่มุ่งเสนอ "ความรู้" และ "ข้อคิด" เป็นสำคัญ ดังนั้นร้อยกรองปัจจุบันจึงมีลักษณะสะท้อนปัญหาของสังคมมากยิ่งขึ้น มิได้มีแต่ร้อยกรองแนวเพ้อฝันเท่านั้น เนื้อหาของร้อยกรองปัจจุบันอาจแบ่งได้กว้าง ๆ เป็น 2 แนว ดังนี้ (สายทิพย์ นุกูลกิจ 2537 : 74-77)

3.1) ร้อยกรองแนวพาฝัน คือบทร้อยกรองที่ผู้แต่งมุ่งแสดงความรู้สึกส่วนตัวออกมาให้ผู้อ่านได้ร่วมรับรู้
เนื้อหาของร้อยกรองแนวพาฝัน อาจแบ่งย่อยได้ดังนี้

3.1.1) เนื้อหาสะท้อนอารมณ์ส่วนตัวของผู้แต่ง ได้แก่ อารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ตามแบบปุถุชนทั่วไป
แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์รัก ซึ่งมีทั้งแบบรัก สุข สมหวัง และโศกรันทดใจ

3.1.2) เนื้อหาสะท้อนแนวคิดเชิงอุดมคติของผู้แต่ง หมายถึง บทร้อยกรองที่เสนอแนวคิดที่มีประโยชน์ต่อผู้อ่านและสังคม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวผู้แต่งอาจคิดขึ้นเอง หรือนำมาจากลัทธิปรัชญาต่าง ๆ ก็ได้

3.1.3) เนื้อหาสะท้อนจินตนาการของผู้แต่ง หมายถึงสะท้อนความนึกฝันอันบริสุทธิ์ของผู้แต่งที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

3.1.4) เนื้อหาสะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ เนื่องในโอกาสวันสำคัญของชาติและศาสนา
3.2) ร้อยกรองแนวเพื่อชีวิต คือ บทร้อยกรองที่ผู้แต่งสะท้อนเรื่องราวของสังคมมากกว่าเรื่องราวส่วนบุคคล ทั้งนี้เพราะต้องการให้เนื้อหาของบทร้อยกรองเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นสำคัญ เนื้อหาของร้อยกรองแนวเพื่อชีวิตมีลักษณะหลากหลาย ดังนี้

3.2.1) เนื้อหากล่าวถึงปัญหาของชาวนา ชาวไร่ กรรมกร คนจน และผู้ใช้แรงงาน พร้อมทั้งชี้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ด้วย

3.2.2) เนื้อหากล่าวถึงคุณค่าและพลังของประชาชน ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมในสังคม

3.2.3) เนื้อหาที่กล่าวถึงความรักที่ต้องมีให้แก่ประชาชน เป็นความรักที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม

3.2.4) เนื้อหาที่สะท้อนภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

3.2.5) เนื้อหาแสดงการคัดค้านค่านิยมเก่าที่ล้าสมัย และไม่ก่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

3.2.6) เนื้อหากล่าวถึงสถานภาพใหม่และบทบาทของสตรีที่มีต่อสังคม

4) ด้านกลวิธีการแต่ง ผู้แต่งร้อยกรองปัจจุบันได้ใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อทำให้ร้อยกรองของตนน่าอ่าน น่าสนใจ ซึ่งกลวิธีต่าง ๆ มีดังนี้ (สายทิพย์ นุกูลกิจ 2537 : 78-8)

4.1) การใช้คำ ร้อยกรองในอดีต ผู้แต่งจะเลือกสรรถ้อยคำที่ขัดเกลามาแล้วอย่างไพเราะด้วยเสียงและความหมาย แต่การใช้คำในร้อยกรองปัจจุบันเน้นความง่าย ความเป็นธรรมดาสามัญ และมักจะใช้ภาษาที่ถ่ายทอดอารมณ์ตามเนื้อหา กล่าวคือ ถ้าเนื้อหามีท่วงทำนองก้าวร้าว รุนแรง ถ้อยคำที่ใช้จะก้าวร้าว หยาบคายแสดงความรุนแรงตามไปด้วย ในขณะเดียวกันหากเป็นร้อยกรองแนวพาฝัน ผู้แต่งจะเลือกใช้คำที่มีเสียงเสนาะ มีความหมายลึกซึ้ง เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งความนึกคิดและอารมณ์ของผู้แต่ง

4.2) การใช้โวหาร ผู้แต่งร้อยกรองปัจจุบันนิยมใช้โวหารต่าง ๆ หลายชนิดด้วยกันเพื่อเป็นสื่อในการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความฝัน หรือความรู้ของผู้แต่งไปยังผู้อ่านหรือเป็นเครื่องช่วยขยายเนื้อความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือช่วยทำให้ผู้อ่านเกิดมโนภาพคล้อยตามผู้แต่งไปด้วย โวหารที่ผู้แต่งใช้เพื่อให้เกิด "ภาพพจน์" มีวิธีการดังต่อไปนี้

4.2.1) อุปมาอุปไมย (Simile) เป็นการนำสิ่งที่มีลักษณะเหมือนกันมาเปรียบเทียบกัน เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพสิ่งที่พูดถึงได้ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น โดยมีคำว่า เหมือน คล้าย ราวกับดุจ เป็นต้น เป็นคำเชื่อม เช่น

เพียงแววเนตรเด็ดฉกาจชาตินักสู้ และโอฐตรูกลทับทิมจิ้มลิ้มเหลือ
สดสะอาดหยาดชีวิตสนิทเจือ ไม่ฟั่นเฝือเฝื่อนฝาดเหมือนชาดทา
และเอวองค์ระหงเพรียวดังเรียวไผ่ ดูแกร่งไกลเกินเทียบเปรียบบุปผา
และผิวคล้ำก่ำไล้ไอแดดทา ผุดผาดกว่าความผ่องลำยองยวง

(อันข้อนี้เพิ่งประจักษ์ : อุชเชนี)

4.2.2) อุปลักษณ์ (Metaphor) เป็นการเปรียบเทียบที่มิใช่การเปรียบเทียบโดยตรงแต่เป็นการนำลักษณะเด่นของสิ่งนั้นมากล่าว หรือนำชื่อสิ่งนั้นมากล่าว มักใช้คำว่า เป็น คือ เท่า ในการเปรียบเทียบ เช่น

แต่เขาเห็นเราเป็นเส้นหญ้า อนิจจามาเหยียบเสียสะท้าน
จนใจแตกยับอัประมาณ มิขอทานรักนั้นจนวันตาย

(โฉมจะหาย : อังคาร กัลยาณพงศ์)

4.2.3) อติพจน์ (Hyperbole) หรือโวหารเกินจริง เป็นการพรรณนาภาพ หรือ อารมณ์ที่เกินความจริง
เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการที่กว้างไกลและแปลกใหม่กว่าธรรมดา เช่น

พลิกพื้นแผ่นดินดาล ให้สท้านทั้งภพไตร
บิดฟ้าให้เฟือนไป ทั้งหล้าโลกด้วยแรงเงา

(เราชนะแล้ว… แม่จ๋า : นายผี)

4.2.4) บุคลาธิษฐาน (Personification) การสมมุติให้มีตัวตน เป็นโวหารซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตราวกับว่าสิ่งนั้นมีชีวิต แสดงกิริยาอาการต่าง ๆ ให้เหมือนคน เช่น พูดได้ ร้องไห้ ได้ รู้สึกได้ เป็นต้น เช่น

ดาวแย้มสรวลทวนเสนาะเสียงเยาะหยัน พระพายผันพรายผ่อนช่างอ่อนไหว
ความเรืองโรจน์โชติชีวิตคิดอันใด เกิดแล้วไยจะมีดับให้กลับกลาย
"ข้าทอแสงแรงสราญมานานเนิ่น ดูงามเกินกว่าจะดับลับแสงฉาย
ลมที่ท่องล่องฟ้ามาใกล้กาย ไยขยายปรัชญาบ้าเกินการ"

(ดาวดวงโรจน์ : ทวีปวร)

4.2.5) ปฏิพจน์ (Antithesis) เป็นการใช้คำที่มีความหมายตรงข้ามกันในลักษณะแย้งหรือถ่วงความ เช่น
สวยอย่างร้าย ดีเป็นบ้า เช่น


วิปริตผิดวิสัยหรือไทยเอ๋ย เมืองเราเคยครองสุขกลับทุกข์เศร้า
เคยชุ่มเย็นยิ่งกลุ้มรุ่มร้อนเร้า คอยกรีตเข้าแทนถล่มร่มไม้บัง
ชีวิตถูกของแพงแล้งน้ำจิต และอากาศเป็นพิษคิดแล้วคลั่ง
ความชั่วหยาบ บาป บ้า ตีตราดัง ยี่ห้อสังคมทู่ของหมู่เรา

(ข้าวยากหมากแพง : จินตนา ปิ่นเฉลียว)

4.2.6) ปฏิวาทะ (Oxymoron) เป็นการนำคำที่มีความหมายตรงกันข้ามหรือค้านกันมารวมกัน
เพื่อให้เกิดคำซึ่งมีความหมายใหม่ เช่น บาปบริสุทธิ์ ขอทานบรรดาศักดิ์ นางบุญ ใจบาป องุ่นเปรี้ยว
มะนาวหวาน น้ำผึ้งขม เช่น

ชีวิตคนวนเวียนเปลี่ยนแปรผัน เหมือนความฝันความจริงสิ่งสับสน
ความดีชั่วกลั้วคละคอยปะปน ระวังตนไตร่ตรองมองให้ดี

(คุณธรรมค้ำจุนสิ่งสุนทร : วนิดา สถิตานนท์)

4.2.7) ปฏิปุจฉา (Rhetorical-question) เป็นศิลปะการใช้คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบของผู้แต่ง
เพราะมุ่งจะให้คำถามนั้นเป็นสื่อนำความคิดของผู้อ่านหรือเป็นเครื่องเรียกร้องความสนใจของผู้อ่านมากกว่าต้องการคำตอบ เช่น

"ท่านเป็นเทพเทวาอารักษ์หรือ หรือท่านคือคนธรรพ์อันสุขศรี
หรือเป็นยักษ์อสุราอสุรี หรือท่านนี้คือมนุษย์บุรุษใด"

(ดังนี้เถิด : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

4.2. สัทพจน์ (Onomatopoeia) เป็นการนำเสียงที่ได้ยินตามธรรมชาติมาใช้บรรยายให้เกิดมโนภาพแก่ผู้อ่าน เช่น กรอบแกรบ หวิวหวิว ออดแอด หึ่งหึ่ง เป็นต้น เช่น

ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่
ออดแอดแอดออดยอดไกว แพใบล้ำน้ำลำคลอง

(บนพรมใบไผ่ : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

4.2.9) อุทาหรณ์ (Analogy) เป็นวิธีการเปรียบเทียบเรื่องราว เหตุการณ์ หรือความคิดสองอย่างที่มีความหมายต่างกันว่าคล้ายกัน โดยการยกข้อความที่เชื่อว่าง่ายแก่การเข้าใจมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้แต่งต้องการจะเสนอ มักจะนิยมใช้สุภาษิต คำพังเพย หรือเพลงกล่อมเด็กเพื่อช่วยสรุปใจความสำคัญหรือช่วยสร้างบรรยากาศของเรื่อง การเปรียบเทียบแบบนี้จะต่างจากวิธีเปรียบเทียบแบบอุปมาอุปไมย
ตรงที่โวหารอุปมาอุปไมยเป็นการเปรียบเทียบคำ แต่โวหารอุทาหรณ์เป็นการเปรียบเทียบข้อความ เช่น

ชีวิตตนจนบัดนี้ไม่มีแผก สวะที่รอแตกตามกระแส
เริ่มละลายเริ่มเพียรเริ่มเปลี่ยนแปร ต่อตัวเองตั้งข้อแม้ - แก้สังคม
แสวงหาอย่างสับสนบนทางผ่าน หลายวิญญาณปนเปประเสประสม
หลายแนวทางได้ค้นคว้ามาลองชม หากเหมือนงมเงาใสในธารา

(ความในใจจากภูเขา : จิระนันท์ พิตรปรีชา)

4.2.10) การกล่าวเท้าความหรือปฏิรูปพจน์ (Allusion) เป็นวิธีการเขียนแบบหนึ่ง ที่ผู้แต่งนิยมอ้างถึงบุคคลหรือเหตุการณ์หรือพฤติกรรม หรือข้อความที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายดีแล้ว เพื่อเปรียบเทียบกับตัวผู้แต่งหรือพฤติกรรมบางประการ จะได้ช่วยโยงความคิดให้แก่ผู้อ่านและทำให้เข้าใจเรื่องราวได้ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น อังคาร กัลยาณพงศ์ กล่าวตัดพ้อว่าทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเกิดมาคู่กันทั้งสิ้น เช่น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ เกิดมาคู่กับ เจ้าฟ้าสังวาลย์ แมลงผึ้งภู่เกิดมาคู่กับดอกไม้ แต่เหตุไฉนตัวเขาเองกลับไร้คู่ เช่น

ธรรมธิเบศร์มหากวี มีหญิงสังวาลย์เป็นมิ่งขวัญ
มอดม้วยด้วยแรงรักนั้น ทุกชีวันพบคู่ชม
แม้แต่บุหงาลดาวัลย์ อัศจรรย์ผึ้งภู่สู่สม
ฟ้าเมตตามิกล้าให้ระทม บรมสุขทุกจุลินทรีย์
แต่ฟ้าปั้นฉันเดียว เปล่าเปลี่ยวใจไฉนฉะนี้
หนวกบอดใบ้เสียก็ดี ควรมีฤาหฤทัย

(ฟ้าบั้นฉันเดียว : อังคาร กัลยาณพงศ์)


เอกสารอ้างอิง

กาญจนา นาคสกุล. ระบบเสียงภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
, ๒๕๔๑.
กำชัย ทองหล่อ. หลักภาษาไทย. พระนคร: รวมสาสน์, ๒๕๑๕.
บรรจบ พันธุเมธา. ลักษณะภาษาไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๑๔.
นววรรณ พันธุเมธา. ไวยากรณ์ไทย. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ,

รูปภาพของฉัน

รูปภาพของฉัน